วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย วิธีตัดวงจรชีวิต ป้องกันปัญหาโรคไข้เลือดออก


 เพราะไข้เลือดออก เป็นโรคที่มีต้นเหตุมาจากยุงลาย โดยร้อยละ 95 ของผู้ป่วยมักเกิดจากการถูกยุงลายบ้านกัด ส่วนอีกร้อยละ 5 จะเป็นยุงลายที่อยู่ตามสวน ส่วนยุงที่เป็นพาหะนำโรคจะเป็นยุงลายตัวเมียเท่านั้น เพราะต้องการโปรตีนและสารอาหารจากเลือดเพื่อการวางไข่ โดยภายหลังจากผสมพันธุ์เพียงแค่ครั้งเดียว ก็จะสามารถวางไข่ได้ 3-4 ครั้ง และครั้งหนึ่ง ๆ จะวางได้มากถึง 1,000-2,000 ฟอง ในภาชนะที่มีน้ำหรือมีน้ำขัง เช่น โอ่งน้ำดื่มน้ำใช้ บ่อซีเมนต์เก็บน้ำ จานรองขาตู้กับข้าวกันมด แจกัน จานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์เก่า และเศษวัสดุต่าง ๆ ที่มีน้ำขัง เป็นต้น


ดังนั้น เพื่อเป็นการกำจัดหรือตัดวงจรชีวิตของยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ดีกว่าการป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงลายกัด ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

1. ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด และหมั่นเปลี่ยนน้ำในแจกันทั้งที่อยู่ในบ้าน และบนศาลพระภูมิทุก ๆ 7 วัน

2. ใส่น้ำเดือดลงในจานรองขาตู้กับข้าว หรือน้ำส้มสายชูเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ และกำจัดลูกน้ำยุงลาย

3. กระถางต้นไม้ที่มีน้ำขัง หากมีขนาดเล็กก็ควรหมั่นเทน้ำทิ้ง แต่ถ้ามีขนาดใหญ่หรือน้ำหนักมากก็ให้ใส่ทรายลงไปเพื่อดูดซับน้ำส่วนเกินที่เกิดจากการรดน้ำต้นไม้

4. ใส่ปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง ปลาสอด ปลากัด ลงในอ่างบัวหรือบ่อซีเมนต์ที่ใส่น้ำสำหรับใช้ โดยใส่ประมาณ 2-10 ตัวต่อภาชนะ และใส่เฉพาะที่เป็นตัวผู้เท่านั้นเพื่อป้องกันการขยายพันธุ์ของปลา เนื่องจากปลาดังกล่าว โดยเฉพาะปลาหางนกยูง เป็นปลาที่เลี้ยงง่ายแต่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง

5. ทิ้งทำลายเศษวัสดุ เช่น กระป๋อง กะลา ขวด กระถางแตก ฯลฯ ที่จะก่อให้เกิดน้ำขัง สำหรับยางรถยนต์เก่าควรหาวัสดุพลาสติกมาคลุมให้มิดชิดเพื่อป้องกันการเกิดน้ำขัง หรือนำไปดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น ทำเป็นที่ปลูกผัก ถังขยะ และเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น โดยจะต้องเจาะรูเพื่อให้น้ำไหลผ่านได้ แต่ถ้าหากจะนำมาทำรั้วก็ควรฝังดินให้ลึกพอที่ด้านล่างของยางรถยนต์นั้นจะไม่สามารถขังน้ำได้

6. หากบริเวณบ้านมีต้นไม้เยอะ ๆ ก็ควรจัดตกแต่งให้ดูโปร่งตา และระมัดระวังอย่ารดน้ำจนเกิดน้ำขังอยู่ในจานรองกระถาง และถ้ามีก็ควรเททิ้งบ่อย ๆ

7. ควรดูแลทำควรสะอาดท่อระบายน้ำ ให้สามารถระบายน้ำได้ดีอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้อุดตันเพราะจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ รวมทั้งหลุมบ่อ หรือแอ่งน้ำเล็ก ๆ ที่อยู่ภายในบ้านก็ควรหาดินหรือทรายมากลบให้เรียบร้อย

เพราะการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์จะเป็นการตัดวงจรชีวิตของยุงลายได้ดี แต่จะต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จึงจะสามารถป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะอย่างได้ผล
  

<> <> <> <> <> <> <> <> <>
สนใจอุปกรณ์ป้องกันยุง : http://mosqkill.com/
วิดีโอน่าสนใจ : https://youtu.be/SOQaFUtQOW4
FanPage : https://www.facebook.com/mosqkiller
คำถามที่พบบ่อย : https://www.facebook.com/groups/847639198622997/
ช่องทางการติดต่อ : Line id : apin.t 
#ยุงลาย

วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ภาวะโลกร้อน ปัจจัยเร่งการระบาดโรคไข้เลือดออก ภัยจากยุงลายที่อันตรายถึงชีวิต



โดยปกติ โรคไข้เลือดออก จะเป็นโรคติดเชื้อที่มักพบการแพร่ระบาดมากในช่วงฤดูฝน และมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะ เนื่องจากต้องการเลือดเพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีนที่จำเป็นสำหรับการวางไข่ ซึ่งการกัดและดูดกินเลือดนั้น หากเป็นการกัดผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกอยู่ก่อน แล้วจึงไปกัดคนอื่น ๆ ต่อไปก็จะก่อให้เกิดการแพร่เชื้อไปเรื่อย ๆ และเป็นอันตรายอย่างยิ่งโดยเฉพาะในเด็กที่ยังไม่มีภูมิต้านทานที่ดีพ

อย่างไรก็ดี ด้วยการระบาดของโรคที่มักเกิดขึ้นในประเทศที่อยู่ในบริเวณเขตร้อน เนื่องจากมีสภาพอากาศที่เหมาะกับการขยายพันธุ์ ทั้งยังเริ่มพบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในประเทศที่อยู่ในเขตหนาวเย็นหรือภูเขาสูงที่มีหิมะตกตลอดปีด้วย ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเริ่มหันมาศึกษาและทำการวิจัยซึ่งพบความน่าวิตกกังวลว่า “ภาวะโลกร้อน” กำลังกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากขึ้น เพราะนอกจากยุงลายจะขยายพันธุ์และเจริญเติบโตได้ดีแล้ว ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ยังเป็นปัจจัยเร่งให้วงจรชีวิตของยุงลายเติบโตเร็วขึ้น ซึ่งจากเดิมกว่าที่ไข่จะกลายเป็นตัวยุงก็มักใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน แต่ปัจจุบันใช้เวลาเพียงไม่ถึงสัปดาห์ก็เจริญเติบโตกลายเป็นยุงที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะแพร่พันธุ์ และเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกได้แล้ว


จากสภาวะที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ยังเป็นเหตุทำให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำที่สูงตามไปด้วย จึงยิ่งทวีความรุนแรงของการระบาด เนื่องจากตรวจพบเชื้อเดงกีซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกในยุงตัวผู้และในลูกน้ำ ซึ่งโดยปกติจะพบในยุงตัวเมียที่กัดกินเลือดของคนเท่านั้น ที่สำคัญคือ อากาศร้อนยังมีส่วนทำให้ยุงลายมีอายุที่ยืนยาวขึ้น จึงทำให้พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเกิดขึ้นตลอดทั้งปี และยังเริ่มมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคในวัยรุ่น และในผู้ใหญ่มากขึ้นอีกด้วย

ไข้เลือดออกยังเป็นโรคที่เมื่อเป็นแล้ว ยังสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีกแต่จะเป็นไข้เลือดออกที่มีสาเหตุมาจากยุงลายสายพันธุ์ เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาโดยเฉพาะ ทั้งยังมีความรุนแรงของโรคที่สูงถึงขั้นเสียชีวิต หากได้รับการดูแลรักษาที่ไม่ถูกวิธี นอกจากนี้ หากผู้ป่วยจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เป็นเด็กทารกที่มีอายุไม่ถึง 1 ปี เป็นโรคอ้วน หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคหอบหืด มีภาวะโลหิตจาง หรือเป็นโรคธาลัสซีเมีย ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบมากคือ ภาวะสมองอักเสบ ตับอักเสบ น้ำท่วมปอด และมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ยุงลาย

จะเห็นได้ว่า การป้องกันไม่ให้เป็นโรคย่อมเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้ไม่ต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิต ดังนั้น นอกจากการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ด้วยการใช้ยาทากันยุง สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ติดมุ้งลวด หรือนอนในมุ้ง รวมทั้งกำจัดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยการฉีดพ่นสารเคมี การเฝ้าระวังไม่ให้มีแหล่งน้ำขังภายในบ้าน ในแจกัน อ่างน้ำ หรือภาชนะต่าง ๆ รวมทั้งช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อน ก็น่าจะเป็นวิธีการที่ดีในการป้องกันการระบาดของโรคที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต

<> <> <> <> <> <> <> <> <>
สนใจอุปกรณ์ป้องกันยุง : http://mosqkill.com/
วิดีโอน่าสนใจ : https://youtu.be/SOQaFUtQOW4
FanPage : https://www.facebook.com/mosqkiller
คำถามที่พบบ่อย : https://www.facebook.com/groups/847639198622997/
ช่องทางการติดต่อ : Line id : apin.t 
#ไข้เลือดออก

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อจากยุงลาย ภัยร้ายที่ต้องระวัง



ไข้เลือดออก (Denque Fever) เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งที่มียุงลายตัวเมียเป็นพาหะ โดยการกัดและดูดกินเลือดของผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก แล้วถ่ายทอดเชื้อที่ได้รับมานั้นให้กับคนที่ถูกกัดต่อไป ซึ่งในช่วงแรกผู้ป่วยจะมีอาการที่คล้ายกับโรคไข้หวัด จึงมักทำให้เข้าใจผิดและไม่เข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี จนทำให้มีอาการของโรคที่รุนแรงขึ้น และกลายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกก็คือ ไวรัสเดงกี (Denque Virus) ซึ่งสามารถมีชีวิตและเพิ่มจำนวนได้ภายในตัวของยุงลาย ซึ่งเป็นยุงที่แพร่และขยายพันธุ์ได้ดีในประเทศที่อยู่ในเขตภูมิอากาศแบบร้อนชื้น และประเทศไทยเองก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่พบการระบาดของโรคที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน เพราะมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่เพิ่มมากขึ้น และจะพบอุบัติการณ์ของโรคนี้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีภูมิต้านทานที่ยังไม่ดีเพียงพอ

ดังนั้น หากพบว่าบุตรหลานหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการไข้ขึ้นสูง มีใบหน้าและตาแดง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ มีจุดเลือด หรือมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล มีเลือดออกตามไรฟัน อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึม เบื่ออาหาร มือเท้าเย็น มีเหงื่อออกมาก ชีพจรเต้นแรงแต่เบา ปวดบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา และไม่ปัสสาวะ ก็ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะผู้ป่วยอาจช็อกและเสียชีวิตในเวลาต่อมาได้ โดยให้สังเกตอาการนำของภาวะช็อกว่าผู้ป่วยเริ่มมีไข้ลดลงหรือไม่ และถ้าหากเห็นว่าผู้ป่วยเริ่มมีไข้ลดลงแล้วตามด้วยอาการดังกล่าว ก็ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

อย่างไรก็ดี เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือยาฆ่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ การรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาตามอาการ โดยเฉพาะการใช้ยาลดไข้ เช็ดตัวบ่อย ๆ และดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะช็อกจากไข้ที่ขึ้นสูง สำหรับยาลดไข้ก็ควรใช้เฉพาะยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เท่านั้น ห้ามใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) และไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) เป็นอันขาด เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย และควรใช้ยาตามขนาดที่ระบุทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง โดยเมื่อไข้ลดก็สามารถงดให้ยาได้ในทันที

จะเห็นได้ว่า ไข้เลือดออกเป็นโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาดังที่กล่าว ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เป็นโรคด้วยการอย่าให้ยุงลายกัดโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน และการตัดวงจรชีวิตหรือทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ ทั้งโดยวิธีทางธรรมชาติ ได้แก่ การคว่ำหรือทิ้งทำลายภาชนะแตก ยางรถยนต์เก่า หรือจานรองต้นไม้ที่มีน้ำขัง การเปลี่ยนถ่ายน้ำในแจกันบ่อย ๆ การปล่อยปลาหางนกยูงเพื่อกินลูกน้ำลงในอ่างบัว การใส่น้ำส้มสายชูลงในจานรองขาตู้กับข้าว และการใช้สารเคมีอย่างทรายอะเบท รวมทั้งสารเคมีฉีดพ่นเพื่อกำจัดยุงลาย ก็ย่อมจะช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ดีที่สุด

<> <> <> <> <> <> <> <> <>
สนใจอุปกรณ์ป้องกันยุง : http://mosqkill.com/
วิดีโอน่าสนใจ : https://youtu.be/SOQaFUtQOW4
FanPage : https://www.facebook.com/mosqkiller
คำถามที่พบบ่อย : https://www.facebook.com/groups/847639198622997/
ช่องทางการติดต่อ : Line id : apin.t 
#ยุงลาย

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การพยาบาลผู้ป่วยไข้เลือดออก แนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อไม่ได้อยู่ใกล้หมอ



ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มักพบการระบาดมากในช่วงฤดูฝน สามารถเกิดได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนใหญ่จะพบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นโรคเกิดที่เกิดจากยุงลายเป็นพาหะ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ขึ้นสูงแบบฉับพลัน ร่วมกับมีเลือดออกตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย โดยจะแสดงอาการของโรคใน 3 ระยะ คือ

ระยะไข้: ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอยอยู่ราว 2-7 วัน ร่วมกับมีอาการหน้าและตาแดง
ระยะช็อก: ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีไข้ลดลง ตัวเย็น มีผื่นขึ้นตามตัว ซึม เบื่ออาหาร อาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หากมีอาการรุนแรงมาก จะมีความดันของเลือดลดต่ำลง ช็อก และเสียชีวิตในที่สุด
ระยะพักฟื้น: เป็นระยะภายหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาอาการในระยะช็อกอย่างทันท่วงที เป็นระยะฟื้นไข้หรือเริ่มมีอาการดีขึ้น และหายจากอาการในที่สุด

เนื่องจากไข้เลือดออก เป็นโรคที่มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ผู้ป่วยจึงควรได้รับการรักษาพยาบาลและเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด เพราะในระยะแรกที่ปรากฏอาการ แพทย์อาจวินิจฉัยให้ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ผู้ใกล้ชิดจึงควรดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธี ดังนี้

1. จัดให้ผู้ป่วยนอนพักในที่ที่มีอากาศถ่ายได้สะดวก แล้วทำการลดไข้โดยการเช็ดตัวด้วยน้ำธรมดาหรือน้ำอุ่นทุก ๆ 15 นาที ร่วมกับทานยาพาราเซตามอล ทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง ห้ามให้ผู้ป่วยทานยาลดไข้ชนิดอื่นเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี หากพบว่าผู้ป่วยมีการอาเจียนมากก็อาจพิจารณาให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนดอมเพอริโดน (Domperidone) โดยแบ่งให้ 3 เวลาแต่ควรให้ในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น และในรายที่ผู้ป่วยได้รับยากันชักจากแพทย์ ก็ให้ใช้ต่อไปตามที่แพทย์ระบุ

2. ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน ๆ และย่อยง่าย รวมทั้งให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพราะระยะนี้ผู้ป่วยจะมีภาวะขาดน้ำ หากมีอาการเบื่ออาหาร ก็ให้เสริมด้วยการดื่มนมหรือน้ำผลไม้ แต่ถ้ามีอาการอาเจียนก็ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ โดยจิบทีละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไปและเพื่อช่วยทำให้ไข้ลดลง
ยุงลาย

3. ติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด เพราะหากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะเกิดเลือดออกตามจุดต่าง ๆ ของร่ายกาย และถ้าหากผู้ป่วยเริ่มมีไข้ลดลงหรือประมาณวันที่ 3 ภายหลังจากมีไข้ขึ้นสูงก็ต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษ เพราะระยะนี้ผู้ป่วยอาจเกิดอาการช็อกจนเสียชีวิตได้ จึงควรสังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการซึมมากขึ้น มีเลือดกำเดาออก อาเจียนมากกว่าเดิม ปวดท้อง แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ไม่ดื่มน้ำและปัสสาวะนานเกิน 6 ชั่วโมง มีเหงื่อออกตามตัว ถ่ายเป็นเลือด กระสับกระส่ายหรือร้องกวนมากในกรณีที่เป็นเด็ก ก็ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

4. อย่างไรก็ดี เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาจนเข้าสู่ระยะพักฟื้น แต่ก็ยังมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติอยู่จึงควรระมัดระวังอย่าให้เกิดการกระทบกระแทกที่รุนแรง โดยเฝ้าดูแลต่อไปจนกว่าผู้ป่วยจะสามารถกลับไปเรียนหรือทำงานได้ตามปกติ

จะเห็นได้ว่าการพยาบาลผู้ป่วยในช่วงเวลาที่ไม่ได้อยู่ใกล้หมอนั้นถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญมากเพราะถ้าหากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกวิธีก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
<> <> <> <> <> <> <> <> <>
วิดีโอน่าสนใจ : https://youtu.be/SOQaFUtQOW4
หากสนใจอุปกรณ์ป้องกันยุง : http://mosqkill.com/
FanPage : https://www.facebook.com/mosqkiller
คำถามที่พบบ่อย : https://www.facebook.com/groups/847639198622997/
ช่องทางการติดต่อ : Line id : apin.t 
#ไข้เลือดออก