วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อจากยุงลาย ภัยร้ายที่ต้องระวัง



ไข้เลือดออก (Denque Fever) เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งที่มียุงลายตัวเมียเป็นพาหะ โดยการกัดและดูดกินเลือดของผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก แล้วถ่ายทอดเชื้อที่ได้รับมานั้นให้กับคนที่ถูกกัดต่อไป ซึ่งในช่วงแรกผู้ป่วยจะมีอาการที่คล้ายกับโรคไข้หวัด จึงมักทำให้เข้าใจผิดและไม่เข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี จนทำให้มีอาการของโรคที่รุนแรงขึ้น และกลายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกก็คือ ไวรัสเดงกี (Denque Virus) ซึ่งสามารถมีชีวิตและเพิ่มจำนวนได้ภายในตัวของยุงลาย ซึ่งเป็นยุงที่แพร่และขยายพันธุ์ได้ดีในประเทศที่อยู่ในเขตภูมิอากาศแบบร้อนชื้น และประเทศไทยเองก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่พบการระบาดของโรคที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน เพราะมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่เพิ่มมากขึ้น และจะพบอุบัติการณ์ของโรคนี้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีภูมิต้านทานที่ยังไม่ดีเพียงพอ

ดังนั้น หากพบว่าบุตรหลานหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการไข้ขึ้นสูง มีใบหน้าและตาแดง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ มีจุดเลือด หรือมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล มีเลือดออกตามไรฟัน อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึม เบื่ออาหาร มือเท้าเย็น มีเหงื่อออกมาก ชีพจรเต้นแรงแต่เบา ปวดบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา และไม่ปัสสาวะ ก็ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะผู้ป่วยอาจช็อกและเสียชีวิตในเวลาต่อมาได้ โดยให้สังเกตอาการนำของภาวะช็อกว่าผู้ป่วยเริ่มมีไข้ลดลงหรือไม่ และถ้าหากเห็นว่าผู้ป่วยเริ่มมีไข้ลดลงแล้วตามด้วยอาการดังกล่าว ก็ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

อย่างไรก็ดี เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือยาฆ่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ การรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาตามอาการ โดยเฉพาะการใช้ยาลดไข้ เช็ดตัวบ่อย ๆ และดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะช็อกจากไข้ที่ขึ้นสูง สำหรับยาลดไข้ก็ควรใช้เฉพาะยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เท่านั้น ห้ามใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) และไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) เป็นอันขาด เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย และควรใช้ยาตามขนาดที่ระบุทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง โดยเมื่อไข้ลดก็สามารถงดให้ยาได้ในทันที

จะเห็นได้ว่า ไข้เลือดออกเป็นโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาดังที่กล่าว ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เป็นโรคด้วยการอย่าให้ยุงลายกัดโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน และการตัดวงจรชีวิตหรือทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ ทั้งโดยวิธีทางธรรมชาติ ได้แก่ การคว่ำหรือทิ้งทำลายภาชนะแตก ยางรถยนต์เก่า หรือจานรองต้นไม้ที่มีน้ำขัง การเปลี่ยนถ่ายน้ำในแจกันบ่อย ๆ การปล่อยปลาหางนกยูงเพื่อกินลูกน้ำลงในอ่างบัว การใส่น้ำส้มสายชูลงในจานรองขาตู้กับข้าว และการใช้สารเคมีอย่างทรายอะเบท รวมทั้งสารเคมีฉีดพ่นเพื่อกำจัดยุงลาย ก็ย่อมจะช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ดีที่สุด

<> <> <> <> <> <> <> <> <>
สนใจอุปกรณ์ป้องกันยุง : http://mosqkill.com/
วิดีโอน่าสนใจ : https://youtu.be/SOQaFUtQOW4
FanPage : https://www.facebook.com/mosqkiller
คำถามที่พบบ่อย : https://www.facebook.com/groups/847639198622997/
ช่องทางการติดต่อ : Line id : apin.t 
#ยุงลาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น